จิตบำบัดแบบอีเอ็มดีอาร์คืออะไร?
จิตบำบัดแบบอีเอ็มดีอาร์ (Eye Movement Desensitization and Reprocessing Therapy) เป็นจิตบำบัดที่ทำงานเกี่ยวกับบาดแผลทางใจ (Psychological Trauma) เหตุการณ์สะเทือนขวัญ (Traumatic Events) หรือความทรงจำที่เจ็บปวด (Distressing Memories) โดยจิตบำบัดแบบอีเอ็มดีอาร์จะมีส่วนช่วยในกระบวนการจัดการกับความทรงจำที่เป็นต้นเหตุของบาดแผลทางใจโดยอิงหลักการของ Adaptive Information Processing: AIP model ซึ่งหลักการของ AIP model เชื่อว่าสมองของมุนุษย์นั้นมีกระบวนการเยียวยาตามธรรมชาติที่จะฟื้นฟูผลกระทบจากบาดแผลทางใจได้ โดยกระบวนการดังกล่าวนั้นเป็นกระบวนการที่จะเชื่อมโยงการทำงานของสมองส่วนต่างๆ เข้าด้วยกัน เช่น สมองส่วนอารมณ์ ความคิด ความรู้สึก หลังจากได้รับการทำจิตบำบัดแบบอีเอ็มดีอาร์แล้ว ผู้รับบริการจะยังคงจำเหตุการณ์ที่เป็นบาดแผลทางใจได้ แต่ผลกระทบทางลบจากเหตุการณ์นั้น เช่น ความคิด ความเชื่อ อารมณ์ ความรู้สึก จะคลี่คลายไป
จิตบำบัดแบบอีเอ็มดีอาร์เหมาะสำหรับผู้รับบริการแบบใดบ้าง?
จิตบำบัดแบบอีเอ็มดีอาร์สามารถช่วยเหลือผู้ที่ประสบกับประเด็นเหล่านี้ได้อย่างดี เช่น ผู้ที่มีภาวะเครียดหลังภัยพิบัติ (Post-Traumatic Stress Disorder: PTSD) ผู้ที่มีประสบการณ์ถูกกระทำรุนแรง ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า สูญเสีย วิตกกังวล กลัว (Fear and Phobia) ผู้ที่ต้องการพัฒนาประสิทธิภาพการทำงาน หรือผู้ที่มีประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับบาดแผลทางใจ
จิตบำบัดแบบอีเอ็มดีอาร์ต่างจากจิตบำบัดแบบอื่นอย่างไร?
ในการทำจิตบำบัดแบบอีเอ็มดีอาร์นั้นผู้รับบริการไม่จำเป็นต้องพูดถึงรายละเอียดของเหตุการณ์ที่รบกวนหรือเหตุการณ์ที่เป็นบาดแผลมากนัก เนื่องจากจิตบำบัดแบบอีเอ็มดีอาร์จะเน้นที่การเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรมที่เป็นผลกระทบมาจากบาดแผลทางใจและเน้นช่วยให้สมองกลับสู่กระบวนการเยียวยาตามธรรมชาติ ในการทำจิตบำบัดแบบอีเอ็มดีอาร์นั้นจะมีทั้งการฝึกการจัดการกับอารมณ์ (Emotional Regulation) การใช้เทคนิคการเสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัยทางใจ (Stabilization Techniques) เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมผู้รับการบำบัด และใช้การเคลื่อนไหวลูกตา เสียง หรือการสัมผัส เพื่อช่วยจัดการกับความทรงจำที่เป็นเป้าหมายในการบำบัดต่อไป นอกจากนี้ยังพบว่าในหลายครั้ง การทำจิตบำบัดแบบอีเอ็มดีอาร์ใช้จำนวนครั้ง (session) ในการบำบัดน้อยกว่าการบำบัดแบบอื่น